พื้นทีว่างภายนอกอาคารที่อยู่อาศัย

มิสเตอร์โยธาว่า สงสัยวันนี้เราได้แฟนพันธุ์แท้ของกรมโยธาธิการและผังเมืองแล้วนะครับ...แม่นตัวเลขขนาดนี้ไว้ผมจะส่งไปแข่งแฟนพันธุ์แท้ในนามกรมฯ ซะหน่อย ล้อเล่นนะครับ ก็หยอกเย้ากระเซ้าเล่นกัน อากาศก็ร้อนไม่อยากให้เครียด วันนี้ว่างๆ ผมว่าเรามาคุยเรื่องที่ว่างกันดีกว่าครับ

อาคารที่อยู่อาศัย และอาคารที่อยู่อาศัยรวม ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 30% ของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร ไม่ว่าจะเป็นหน้าบ้านหรือหลังก็ได้ ส่วนอาคารพาณิชย์ ห้องแถว ตึกแถว อาคารสาธารณะ โรงงานและอาคารอื่นใดที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย ต้องมมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 10% ของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร สาเหตุที่กำหนดให้มีพื้นที่ว่างน้อยกว่าอาคารที่พักอาศัย นั่นก็เพราะว่าอาคารพาณิชย์และอาคารสาธารณะนั้นไม่ได้มีคนอยู่อาศัยตลอดเวลา จึงกำหนดให้มีพิ้นที่ว่างน้อยกว่าอาคารที่พักอาศัย
พื้นทีว่างภายนอกอาคาร
นอกจากนี้ห้องแถว ตึกแถว ที่ด้านหน้าไม่ติดริมถนนสาธารณะ ต้องมีที่ว่างด้านหน้าอาคารกว้างไม่น้อยกว่า 6.00 เมตร โดยไม่ให้มีส่วนใดของอาคารยื่นล้ำเส้นเข้าไปในพื้นที่ 6.00 เมตร นี้เหตุผลที่ต้องเว้นไว้เพื่อความสะดวกในการสัญจรไปมา อากาศก็ถ่ายเทสะดวก และที่สำคัญเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้รถดับเพลิงวิ่งผ่านได้อย่างสะดวก
เห็นไหมครับว่ากฏหมายที่กำหนดให้ใช่ว่าจะเป็นประโยชน์ของหลวงเสียเมื่อไหร่ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อประโยชน์ของผู้อยู่อาศัยทั้งนั้นแหละครับ อย่าคิดว่าถ้าก่อสร้างอาคารให้ติดกันเป็นพรึ่ดไม่มีที่ว่างเลยจะเป็นประโยชน์ ปัญหาอีกร้อยแปดจะต้องตามมาภายหลังเป็นแน่! สมมติว่าเกิดเหตุเพลิงไหม้แล้วล่ะก็ รถดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปได้ อันนี้ก็จะโทษกันไม่ได้นะครับ เพราะเราเตือนคุณแล้วจริงๆ นะ..เพราะฉะนั้นก็อย่าฝ่าฝืนกันเลยนะครับ

จะทำยังไงดี ถ้าวันหนึ่งคุณทุ่มเงินที่หามาได้ทั้งชีวิตเพื่อซื้อบ้าน แต่จู่ๆ มีคนมาบอกว่าคุณต้องรื้อบ้าน เพราะพื้นที่บ้านของคุณจะต้องเป็น

ผมอยากจะบอกกับคุณว่าเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นจริงๆ มาแล้ว ทำให้เจ้าของบ้านแทบจะเป็นลมล้มพับ ต้องเดือดร้อนหาตัวผู้รับผิดชอบ ฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นการใหญ่หลายๆ ท่านก็คงยังคาใจอยู่ว่า "ที่ว่าง" นี้มันสำคัญอย่างไร? ทำไมจะต้องเว้นว่างไว้ให้เสียของแถมจะสร้างอะไรก็ไม่ได้จนต้องเดือดร้อนเป็นเรื่องเป็นราวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เอาเป็นว่าถ้าหากไม่อยากให้กรณีอย่างนี้เกิดขึ้นกับคุณละก็ ต้องติดตามสิ่งที่ผมจะบอกต่อไปนี้ครับ
พื้นที่ว่างระหว่างตึก
ถ้าจะว่ากันตามกฏหมายควบคุมอาคารแล้ว ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า "ทาวน์เฮาส์" นั้นแหละครับ เวลาที่จะสร้างนั้นจะสร้างติดกันได้ไม่เกิน 10 คูหา ยาวรวมกันไม่เกิน 40.00 เมตร ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของเดียวกัน และใช้โครงสร้างเดียวกันหรือแยกกันก็ตาม แล้วที่สำคัญจะต้องเว้นที่ว่างไว้ไม่ น้อยกว่า 4.00 เมตร เป็นช่องตลอดความลึกของบ้านแถวนั้น และจะก่อสร้างอาคาร รั้ว กำแพง บ่อน้ำ ที่พักขยะ หรือสิ่งก่อสร้างอื่นใด ไม่ได้! นั้นก็หมายความว่า อาคารแถวที่สร้างติดกันทุกๆ 40.00 เมตร ไม่ว่าจะเป็นกี่คูหาก็ตาม แต่ต้องไม่เกิน 10 คูหา (ไม่อย่างนั้นบ้านคุณคงหน้าแคบมากๆ) จะต้องเว้นที่ว่างเอาไว้ 4.00 เมตร แล้วค่อยสร้างอาคารต่อไปได้นั้นเอง
แน่นอนครับทุกอย่างย่อมมีเหตุผล ที่ต้องเว้นเป็นที่ว่างไว้ก็เพื่อประโยชน์หลักเลยนั้นก็คือ หากเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นจะช่วยป้องกันไฟไม่ให้ลุกลามไปยังคูหาใกล้เคียง จะได้ไม่สร้างความเสียหายมากขึ้น แล้วก็ง่ายต่อการสกัดเพลิงไหม้ของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงด้วย
นอกจากนี้แล้ว ที่ว่างนี้ยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีกนะครับเช่น เพื่อความสวยงามไม่แออัด คุณคงไม่ชอบแน่ๆ ถ้าบ้านแถวที่คุณซื้อไว้ติดกันเป็นพรืดไม่มีช่องว่างเลย และยังเป็นช่องทางลมช่วยในการระบายอากาศด้วย ประโยชน์ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ยังเป็นที่สำหรับใช้ "กลับรถ" ก็ยังได้อีกด้วยครับ
คุณคงเคยเข้าไปในซอยแล้วต้องหงุดหงิดที่เจอบ้านติดกันยาวเหยียดหาที่กลับรถก็ไม่ได้ ต้องถอยหน้า ถอยหลัง ถอยยาว ทีนี้เห็นยังครับว่าที่ว่างนี้มีประโยชน์ขนาดไหน บางทีเราก็เรียกทีว่างนี้ว่า "ที่ดินแปลงที่ 11"
ที่ดินแปลงที่ 11
เพราะฉะนั้นเวลาที่ท่านจะไปซื้อ ห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว หรือทาวน์เฮาส์ ต้องดูให้ดีว่าคูหานั้นไม่ได้สร้างอยู่บนพื้นที่แปลงที่ 11 ซึ่งต้องเว้นว่างไว้นะครับ ไม่อย่างนั้นจะต้องมานั่งช้ำใจ ต้องถูกสั่งให้รื้อในภายหลัง เห็นไหมครับว่ากฏหมายควบคุมอาคารนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว ศึกษาไว้ไม่เสียหลายแน่นอนครับ เอาล่ะครับทีนี้คงพอทราบกันแล้ว่าทำไมถึงจะต้องมีกฏหมายควบคุมอาคารให้มีที่ว่างเช่นนี้นะครับ

การสร้างตึกแถวให้ปลอดภัยและถูกกฏหมาย

มิสเตอร์โยธา ขา..า..า..า ดิฉันอยากจะสร้างตึกแถว ให้เช่า น่ะค่ะ ลูกค้าขอมากันเยอะบอกว่าอยากให้ทำหลายชั้น และขอให้มีชั้นลอยด้วย อยากทราบว่าจะสร้างอย่างไรดีให้ปลอดภัย และถูกกฏหมายคะ?
ผมก็ต้องขอชมคุณเจ้าของตึกแถวท่านนี้นะครับ ที่ถามผมเข้ามาเกี่ยวกับหลักการสร้างตึกแถวให้ปลอดภัย และถูกกฏหมาย ผมจะได้ช่วยตอบให้หายสงสัยไปพร้อมๆ กับผู้อ่านท่านอื่นๆ ด้วยเลยนะครับ แหม..ก็สมัยนี้ใครมีที่มีทางดีๆ มีชัยไปกว่าครึ่งนะครับ จะทำตึกแถวห้องแถวให้เช่า ก็สบายเหมือนเสือนอนกิน เหนื่อยสร้างทีเดียวเท่านั้นเอง แต่สำคัญที่ว่าจะสร้างทั้งทีขอแนะนำให้สร้างให้ดีและถูกกฏหมายนะครับจะได้ไม่มีปัญหาทีหลังให้ต้องมานั่งแก้ไข
การสร้าง ห้องแถว ตึกแถว นั้นชั้นล่างจะต้องมี ระยะดิ่ง (จากพื้นถึงพื้น) หรือ ความสูงไม่ต่ำกว่า 3.50 เมตร นะครับ ส่วนชั้นที่ 2 ขึ้นไป จะต้องมีความสูงไม่ต่ำกว่า 3.00 เมตร นะครับ แต่ถ้าหากอยากจะทำชั้นลอยด้วยละก็ชั้นล่างของตึกแถวที่คุณจะสร้างจะต้องมีความ สูง ตั้งแต่ 5.00 เมตร ขึ้นไปถึงจะสามารถทำชั้นลอยได้ และชั้นลอยที่คุณสร้างขึ้นมานั้น จะต้องมีเนื้อที่ไม่เกินร้อยละ 40 ของเนื้อที่ห้องนะครับ เช่น
ถ้าพื้นที่ห้องแถวของคุณ คือ 100 ตารางเมตร ชั้นลอยของคุณก็จะมีพื้นที่ได้ไม่เกิน 40 ตร.ม. นะครับ และระยะดิ่ง หรือความสูงระหว่างชั้นลอยถึงพื้นอีกชั้นต้องไม่น้อยกว่า 2.40 เมตร และความสูงระหว่างพื้นห้องชั้นหนึ่งถึงพื้นชั้นลอยต้องไม่น้อยกว่า 2.40 เมตร เช่นกันนะครับ
ถ้าคุณสร้างชั้นลอยให้มีพื้นที่กว้างเกินร้อยละ 40 ของเนื้อที่ห้อง จะถือว่าชั้นนั้นเป็นอีกชั้นหนึ่งของตึกทันที ไม่ใช่ชั้นลอยนะครับ และจะต้องสร้างให้มีความสูงไม่ต่ำกว่า 3.00 เมตร ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นด้วย
ครับไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วอยากฝากไว้อีกอย่างว่า ห้องน้ำ ห้องส้วม นั้นก็อย่าละเลย ต้องมีความสูงไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร นะครับ เพราะมีเจ้าของตึกบางท่านใจแคบชอบสร้างห้องน้ำไว้ใต้บันได ทั้งแคบทั้งเตี้ยแบบนี้ผิดทั้งหลักกฏหมายและสุขอนามัยไม่ดีนะครับ
ที่ต้องมีข้อกำหนดในเรื่องของระดับความสูงของอาคารแต่ละชั้นนั้น ก็เพื่อประโยชน์ของผู้อาศัยนั้นแหละครับ ถ้าสร้างให้ชั้นแต่ละชั้นเตี้ยเกินไป ก็จะทำให้อึดอัดอากาศถ่ายเทไม่สะดวกนั้นเองครับ ทีนี้ก็ทราบหลักในการสร้างตึกแถวให้ถูกตามหลักกฏหมายควบคุมอาคารแล้วนะครับ ผมรับรองได้ว่าตึกแถวของคุณจะต้องมีผู้มาเข้าแถวขอเช่าไม่ขาดสายแน่นอน ก็ "ของดีมีคุณภาพ ใครจะไม่ชอบล่ะครับ"
หากคุณผู้อ่านประสบปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่อาศัย หรือสงสัยว่าบ้านของคุณปลูกสร้างได้อย่างถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่สามารถเขียนจดหมายมาสอบถามได้ที่
สร้างตึกอย่างไรให้ถูกกฏหมาย

ประเภทของอาคาร

Building8ลูกสาว : โอ้โห! แม่ขา ในกรุงเทพฯ นี่มีแต่อาคารสูงๆ ทั้งนั้นเลยนะคะ อยากรู้จังว่าเค้าแยกประเภทของอาคารไหมคะ? ว่ามีอะไรบ้าง?
คุณแม่ : แยกสิคะ จะมีทั้งอาคารสูง อาคารสาธารณะ สำนักงาน เอ...อะไรอีกนะจำไม่ค่อยได้ แม่ว่าไปถามเพื่อนเก่าแม่ดีกว่า มิสเตอร์โยธาจ๋า...
          จ๋า..ไปไหนกันมาจ๊ะแม่ลูก มาเที่ยวกันเหรอครับ ในเมื่อหลานสาวคนสวยของผมอยากรู้ว่าอาคารเค้าแยกประเภทไหม ผมก็จะอธิบายให้เข้าใจนะครับ ก็ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จะกำหนดคำนิยามไว้ ดังนี้
          อาคารอยู่อาศัยรวม หมายความว่า อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารเป็นที่อยู่อาศัยหลายครอบครัว โดยแบ่งออกเป็นหน่วยแยกจากกันสำหรับแต่ละครอบครัวมีห้องน้ำ ห้องส้วม ทางเดิน ทางเข้าออก และทางขึ้นลง หรือลิฟท์แยกจากกัน หรือร่วมกัน
          สำนักงาน หมายความว่า อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่ใช้เป็นสำนักงานหรือที่ทำการที่มมีพื้นที่ตั้งแต่ 300 ตร.ม. ขึ้นไป
          อาคารสูง หมายความว่า อาคารที่บุคคลเข้าอยู่หรือใช้สอย มีความสูงตั้งแต่ 23.00 เมตร ขึ้นไป โดยวัดจากระดับพื้นดินถึงดาดฟ้า สำหรับอาคารจั่วหรือปั้นหยาให้วัดจากระดับพื้นดินที่ก่อสร้างถึงยอดผนังของชั้นสุูงสุด
          อาคารขนาดใหญ่ หมายความว่า อาคารที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อใช้อาคารหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารเป็นที่อยู่อาศัยหรือประกอบกิจการประเภทเดียวหรือหลายประเภท โดยมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน 2,000 ตร.ม.หรือเป็นอาคารที่สูงตั้งแต่ 15.00 เมตร ขึ้นไป และมีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นหรือชั้นหนึ่งชั้นใดในหลังเดียวกันเกิน 1,000 แต่ไม่เกิน 2,000 ตร.ม. วิธีการวัดความสูงของอาคารขนาดใหญ่ก็เหมือนกันกับอาคารสูงดังกล่าวข้างต้น
          อาคารสาธารณะ หมายความว่า อาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการชุมชนคนได้โดยทั่วไป เพื่อกิจกรรมทางราชการ การเมือง การศึกษา การศาสนา การสังคม การนันทนาการ หรือการพาณิชยกรรม เช่น โรงมหรสพ หอประชุม โรงแรม โรงพยาบาล สถานศึกษา หอสมุด สนามกีฬากลางแจ้ง สถานกีฬาในร่ม ตลาด ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า สถานบริการ ท่าอากาศยาน อุโมงค์ สะพาน อาคารจอดรถ สถานีรถ ท่าจอดเรือ โป๊ะจอดเรือ ฌาปนกิจสถาน ศาสนสถาน เป็นต้น
          ตามที่กล่าวมาข้างต้น ก็เป็นอาคารที่เห็นๆ กันทุกวันในเมืองใหญ่ของเราเนี่ยครับ หวังว่าหลานสาวของผมกับคุณผู้อ่านคงพอจะเข้าใจกันบ้างนะครับ

จะเลือกสร้างบ้านอย่างไรให้มีคุณภาพ


ทาวน์เฮาส์หรูใจกลางเมืองทำเลทอง เปิดจองแล้ววันนี้ อาคารพาณิชย์ ติดถนน 5 คูหา สุดท้ายถูกที่สุดกล้ารับประกัน! สร้างเสร็จก่อนขาย อยู่สบายทุกยูนิต พิเศษ ซื้อทาวน์เฮาส์วันนี้...
ฟรี ! แอร์ 1 เครื่อง ลุ้นรับทอง 10 บาท
เลือกบ้านอย่างไรให้มีคุณภาพ
          แหม ! ถ้าใครกำลังมองหาทาวส์เฮาส์หรืออาคารพาณิชย์ดีๆ สักหลังในขณะนี้ คงจะกลุ้มใจจนอกแทบระเบิด ก็จะเพราะอะไรซะอีกล่ะครับ ถ้าไม่ใช่ต้องมาเจอโฆษณาที่บรรดาเจ้าของโครงการพากันกระหน่ำลงมาล่อตาดึงดูดใจ... ให้เทเงินในกระเป๋าที่มีอยู่แสนจะจำกัดไปซื้อ มีทั้ง ลด แลก แจก แถม จนเลือกกันไม่ถูก แต่ในฐานะมิสเตอร์โยธา กระผมก็อยากเตือนว่า อย่ามัวดูแต่ราคาจนลืมดูว่า ทาวน์เฮาส์หรืออาคารพาณิชย์นั้น สร้างได้อย่างปลอดภัยและถูกกฏหมายหรือไม่จะได้ไม่ต้องมีปัญหาทีหลังนะครับ
          มีหลายท่านก็มาถามผมว่า แล้วจะให้สังเกตยังไงให้ปลอดภัยและก็ถูกกฏหมายล่ะ อันนี้ไม่ยากเลยครับ ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ห้องแถว ตึกแถวหรือบ้านแถวหรือที่เราเรียกติดปากว่า "ทาวน์เฮาส์" นั้นมีความหมายต่างกันอย่างไร? จริงๆแล้ว "ห้องแถว" ก็หมายถึง อาคารที่ก่อสร้างต่อเนื่องกันเป็นแถวตั้งแต่สองคูหาขึ้นไป มีผนังแบ่งอาคารเป็นคูหา แต่ส่วนใหญ่จะสร้างจากวัสดุไม่ทนไฟ เช่น ไม้ ซึ่งสมัยนี้แทบไม่มีแล้ว เพราะไม้หมดป่าและราคาแพงมากๆ ต่างกับ "ตึกแถว" ตรงที่จะสร้างด้วยวัสดุทนไฟเป็นส่วนใหญ่ ส่วนวัสดุทนไฟก็คือวัสดุก่อสร้างที่ไม่เป็นเชื้อเพลิงนั้นเอง ส่วน"บ้านแถว" หรือ "ทาวน์เฮาส์" นั้นก็เป็นตึกแถวที่ใช้อาศัย ซึ่งต้องมีที่ว่างด้านหน้าและด้านหลังระหว่างรั้วหรือแนวเขตที่ดินกับตัวอาคารแต่ละคูหา และต้องสูงไม่เกิน 3 ชั้น
เลือกบ้านอย่างไรให้มีคุณภาพ
          ทีนี้พอจะเข้าใจและแยกแยะกันออกบ้างแล้วนะครับ หากจะตัดสินใจซื้อห้องแถวตึกแถว ให้ปลอดภัยและถูกกฏหมาย อย่างแรกที่ต้องดูก็คือ "ความกว้าง" ห้องแถว ตึกแถวและบ้านแถวที่เราจะซื้อนั้น ต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 4.00 เมตร นะครับ วิธีวัดก็ไม่ยากเลย คือให้เราวัดตั้งฉากจากตรงกลางของเสาด้านหนึ่งไปยังตรงกลางของเสาอีกด้านหนึ่งเท่านั้นเอง และที่ต้องกำหนดให้กว้างไม่น้อยกว่า 4.00 เมตร อันนี้ก็เพื่อที่ห้องแถว ตึกแถวและบ้านแถวของท่านจะได้ไม่แคบจนเกินไปเหมือนกับตู้โชว์ยังไงละครับ และเมื่อมีความกว้างก็ต้องมีความยาว หรือจะเรียกว่า "ความลึก" ก็ได้ คือต้องมีความลึกไม่น้อยกว่า 4.00 เมตร ไม่งั้นห้องแถว ตึกแถว บ้านแถว ของท่านอาจจะเหมือนกับตู้ปลาได้ แต่ก็ห้ามยาวเกิน 24.00 เมตร เพราะอันนี้ก็ยาวเกินไป เดี๋ยวบ้านของท่านก็จะอับทึบมืดเหมือนถ้ำ อากาศระบายถ่ายเทได้ไม่สะดวก
          ด้วยเหตุนี้ห้องแถว ตึกแถว ที่มีความลึกมากกว่า 16.00 เมตร กฏหมายกำหนดว่า "ต้องจัดให้มีที่ว่างอันปราศจากสิ่งปกคลุม"  ขึ้นบริเวณหนึ่งที่ระยะระหว่าง 12.00 เมตร ถึง 16.00 เมตร โดยมีเนื่้อที่ไม่น้อยกว่า 10% ของพื้นที่ชั้นล่างของอาคารนั้น ถ้าเป็นบ้านแถวต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 20% แต่ถ้าอาคารมีความลึกไม่ถึง 16.00 เมตร ก็ไม่ต้องกันพื้นที่นี้ไว้ นี่ก็เพื่อให้มีการระบายอากาศ มีความโปร่งโล่ง แสงแดด ส่องถึงจะได้ไม่มืด ช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าด้วย ซึ่งเราสามารถใช้พื้นที่นี้เป็นลานซักล้างก็ได้ หรือจัดเป็นสวนหย่อมปลูกต้นไม้ก็ได้ และที่สำคัญห้องแถว ตึกแถวและบ้านแถวต้องมีประตูเข้าออกทั้งด้านหน้าและด้านหลังเพื่อช่วยให้อากาศภายในบ้านถ่ายเทได้สะดวก และหากเกิดอัคคีภัยก็มีทางหนีไฟได้อย่างปลอดภัยยังไงละครับ
          เห็นไหมละครับกฏหมายที่กำหนดขึ้นก็เพื่อประโยชน์ของผู้อยู่อาศัยทั้งนั้น เราๆ ท่านๆ ก็อย่าหาว่าเป็นเรื่องไกลตัว รู้ไว้สักนิดเพื่อใช้ประกอบการคิด และตัดสินใจในการซื้ออาคารของท่าน ท่านจะได้ อาคาร "ที่ราคาถูกใจ ปลอดภัย ไร้ปัญหา" ครับ

ระบบสัญญานเตือนเพลิงไหม้

ชาวบ้าน 1 : โอ้ย! ฮือ... ไฟไหม้ได้ยังไงเนี่ยไม่รู้เรื่องเลย ฉ้นมารู้ตัวอีกทีก็ได้ยินคนตะโกนกันโหวกเหวกว่า "ไฟไหม้" เลยสะดุ้งตื่นคว้าผ้าขาวม้าได้ ก็วิ่งหนีเอาชีวิตรอดมาเนี่ยแหละ...
ชาวบ้าน 2 : โอ๊ะ! แสดงว่าแกไม่ใส่อะไรนอนเลยเหรอ นี้ฉันก็ไม่ได้ยินเสียงอะไรเตือนเลยนะ มารู้สึกตัวอีกทีไฟก็ไหม้จะถึงตัวแล้วโอย...หมดกัน หมดตัว ฮือ...
เหตุการณ์ในครั้งนี้ก็อาจจะไม่เกิดความเสียหายได้มากขนาดนี้ ถ้ามีสิ่งใดที่จะสามารถเตือนให้ผู้อยู่อาศัยได้ทราบก่อนเพื่อที่จะได้ช่วยกันดับไฟก่อนที่เพลิงยังไม่ลุกลามไปใหญ่โต มิสเตอร์โยธากำลังหมายความถึง สัญญานเตือนเพลิงไหม้ ไงครับ
การติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัยในอาคารที่พักอาศัยประเภทต่างๆ โดยเฉพาะในอาคารสูงและอาคารหลังเดียวกันมีพื้นที่รวมกันทุกชั้นเกิน 2,000 ตร.ม. อาทิเช่น ในห้างสรรพสินค้า โรงแรม สถานพยาบาล สถานศึกษา ท่าอากาศยาน อาคารจอดรถอาคารที่อยู่อาศัยรวมที่มีตั้งแต่ 4 ยูนิตขึ้นไป จำเป็นต้องมีระบบสัญญานเตือนเพลิงไหม้ทุกชั้น แต่ถ้าเป็นห้องแถวตึกแถว บ้านแถว และบ้านแฝด ที่มีความสูงเกิน 2 ชั้น ต้องมีระบบสัญญานเตือนเพลิงไหม้ติดตั้งอยู่ในอาคารอย่างน้อย 1 เครื่อง ทุกคูหา ในส่วนของตัวอุปกรณ์นั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วย


1. อุปกรณ์ส่งสัญญานเพื่อให้หนีไฟสามารถส่งเสียงหรือสัญญานให้คนที่อยู่ในอาคารได้ยินอย่างทั่วถึง


2. อุปกรณ์แจ้งเหตุที่มีทั้งในระบบอัตโนมัติและระบบที่แจ้งเหตุด้วยมือ


ถ้าคุณผู้อ่านจะลองไปสังเกตตามอาคารสูงดู บางที่จะมีตัวจับควันหรือความร้อนที่ผิดปกติ เรียกว่า Detector เมื่อเกิดมีเพลิงไหม้ขึ้น อุปกรณ์ตัวนี้จะทำงานโดยอัตโนมัติให้ Alarm เป็นตัวส่งสัญญานเตื่อนในลักษณะของแสงและเสียง อาคารที่มีพื้นที่รวมกันทุกชั้นเกิน 2,000 ตร.ม. ในแต่ละชั้นจะต้องมีป้ายบอกชั้นและทางหนีไฟ กำหนดให้ตัวอักษรต้องมีขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 10 ซ.ม. หรือ สัญลักษณ์ที่อยู่ในตำแหน่งระดับสายตา มีแสงสว่างและระบบไฟฟ้าฉุกเฉินที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน นี่ก็เป็นเพียงบางส่วนในมาตรการของความปลอดภัยที่กรมโยธาธิการและผังเมือง กำหนดไว้ เพราะเหตุการณ์และความเสียหายนี้ มิสเตอร์โยธาไม่อยากให้เกิดขึ้นกับคุณ หากเราได้รู้ตัวแต่เนิ่นๆ ตั้งสติให้ดี เราก็สามารถที่จะแก้ไขสถานการณ์ได้นะครับ


ที่มาบทความและรูปภาพ :

การออกแบบเสายาว

เสายาว (Long Reinforced Concrete Columns or Slender Reinforced Concrete Columns) หมายถึง เสาที่มีความยาวถึงค่าที่เสาเมื่อรับน้ำหนักแล้วจะโก่งตัว เมื่อแรง P = 0 เสาจะเป็นเส้นตรง แต่เมื่อแรง P เพิ่มขึ้นเสาจะโก่งตัวเล็กน้อย หรือหากมีแรงตามแนวขวางดันที่กึ่งกลางของเสาทำให้เสาโก่งตัว ถ้า P ยังมีขนาดไม่มากเมื่อเอาแรง F ออกเสาจะกลับสู่สภาพเส้นตรงเหมือนเดิม แต้ถ้า P มีขนาดมากถึงค่าๆ หนึ่งเรียกว่า “น้ำหนักหรือแรงวิกฤต” (Critical Load) ถึงแม้ว่าจะเอาแรง F ออกก็ตาม เสาก็จะยังคงโก่งตัวไม่กลับสู่สภาพเส้นตรงเหมือนเดิม ซึ่งเรียกว่า การโก่งเดาะ (Lateral Buckling) เมื่อแรง P เลยค่าวิกฤติ Pcr เสาก็จะโก่งตัวมากขึ้นจนหักนั่นคือน้ำหนักวิกฤติ Pcr เป็นน้ำหนักสูงสุดหรือน้ำหนักประลัยของเสา ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากค่าอัตราส่วน “ความยาวต่อความกว้างของเสา” (l/t) ที่มีค่ามากกว่า 15 ดังนั้นในการออกแบบเพื่อป้องกันการโก่งเดาะ เราจึงต้องทำการคำนวณหาค่า “ตัวคูณลดกำลัง” (R) ซึ่งจะใช้ค่าที่น้อยกว่า 1 แต่ในกรณีที่ค่า R มากกว่า 1 ก็ให้ใช้เท่ากับ 1 (ออกแบบโดยวิธีหน่วยแรงใช้งาน : WSD)

ความสามารถในการรับน้ำหนักของเสายาว P’ = PR

    R = 1.07 – 0.008(l’/r) <=1
    l = ความสูงของเสา
    r = รัศมีไจเรชั่น (Radiud of Gyration)

ความยาวประสิทธิผล (Effective Length) สามารถจำแนกได้เป็น 4 กรณีดังต่อไปนี้

    Hing : Hing >>> K = 1 : l’ = l
    Fix : Free >>> K = 2 : l’ = 2l
    Fix : Fix >>> K = 0.5 : l’ = 0.5l
    Fix : Hing >>> K = 0.7 : l’ = 0.7l