แบบก่อสร้างและประเภทของแบบก่อสร้าง (Construction Drawing)

แบบก่อสร้างและประเภทของแบบก่อสร้าง (Construction Drawing)


โดยทั่วไปแล้ว แบบก่อสร้างอาคารจะประกอบด้วยแบบประเภทต่างๆ คือ
- แบบสถาปัตยกรรม
- แบบวิศวกรรมโครงสร้าง
- แบบวิศวกรรมไฟฟ้า
- แบบวิศวกรรมเครื่องกล
- แบบวิศวกรรมสุขาภิบาล
1. แบบสถาปัตยกรรม หากจะกล่าวอย่างง่ายๆ แบบสถาปัตยกรรม คือ แบบก่อสร้างที่จะแสดงลักษณะและรายละเอียดของอาคารเมื่อก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ดังนั้นในการก่อสร้างจะต้องพยายามก่อสร้างให้ได้ลักษณะ และรายละเอียดตามที่แสดงไว้ในแบบสถาปัตยกรรม หากแบบวิศวกรรมโครงสร้าง หรือแบบประเภทอื่น ขัดแย้งหรือไม่สอดคล้องกับแบบสถาปัตยกรรม ควรพยายามแก้ไขแบบประเภทอื่นก่อน โดยทั่วไปแบบสถาปัตยกรรมจะแสดงในอัตราส่วน (Scale) ที่มีการกำหนดไว้แน่นอน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความสัมพันธ์ระหว่างขนาดอาคารและขนาดกระดาษที่ใช้แสดงแบบ แบบสถาปัตยกรรม ประกอบด้วยแบบย่อยๆ ดังต่อไปนี้
1.1 สารบัญแบบ การกำหนดหมายเลขหน้ามักใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ (A = สถาปัตยกรรม, S = วิศวกรรมโครงสร้าง, E = วิศวกรรมไฟฟ้า, SN = วิศวกรรมสุขาภิบาล) ตามด้วยตัวเลขหน้าของแบบประเภทนั้นๆ โดยมีขีดคั่นกลาง เช่น A–01, S–01, E-03, SN-02 เป็นต้น การเรียงลำดับจะเป็นแบบสถาปัตยกรรมขึ้นก่อน ตามด้วยแบบวิศวกรรมโครงสร้าง แบบวิศวกรรมไฟฟ้า และแบบวิศวกรรมสุขาภิบาล ตามลำดับ
1.2 ผังแสดงจุดก่อสร้าง ผังนี้จะแสดงความสัมพันธ์ระหว่าง อาคาร พื้นที่ก่อสร้าง และบริเวณโดยรอบพื้นที่ก่อสร้าง โดยจะแสดงตำแหน่งที่แน่นอนของอาคาร ทิศทางการหันหน้าของอาคาร ความลาดชัน (Slope) ของพื้นที่ก่อสร้าง ตำแหน่งถนน/ทางสาธารณะ ตำแหน่งท่อประปา/ท่อระบายน้ำสาธารณะและแสดงอาคารหรือสภาพแวดล้อมธรรมชาติโดยรอบพื้นที่ก่อสร้าง ผังแสดงจุดก่อสร้างจะมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องก่อสร้างในพื้นที่ที่จำกัด และมีเขตติดต่อกับที่ดินอื่น
1.3 รายการประกอบแบบก่อสร้าง เป็นส่วนที่มีความสำคัญมาก ซึ่งผู้ดำเนินการก่อสร้าง ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง หรือผู้ตรวจงานก่อสร้าง จะต้องศึกษาให้ละเอียดเพราะเป็นส่วนที่จะกำหนด ระบุรายละเอียด ข้อกำหนดต่างๆ ในการดำเนินการก่อสร้าง ตลอดจนวัสดุก่อสร้าง ซึ่งผู้ดำเนินการก่อสร้างจะต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด
1.4 แบบแปลนพื้น ในแบบแปลนพื้นของแบบสถาปัตยกรรมนี้ จะต้องมีแบบแปลนพื้นแสดงสำหรับทุกชั้นของอาคาร แนวของรูปตัดของอาคาร และการกำหนดทิศทางการมองเพื่อแสดงรูปด้าน รวมไปถึงสัญลักษณ์แสดงทิศจะระบุอยู่ในแบบแปลนนี้ ข้อมูลที่สำคัญๆ ที่จะระบุอยู่ในแบบแปลนพื้นมีดังนี้
• ขนาดมิติ ความกว้าง ยาว
• ระดับของพื้นภายนอกอาคาร และภายในอาคาร (เช่น พื้น เพดาน หลังคา เป็นต้น)
• ตำแหน่งของเสา แนวผนัง บันได ประตู และหน้าต่าง
• การแบ่งพื้นที่ใช้สอย
• ชนิด ประเภทของพี้น ผนัง เพดาน ประตู และหน้าต่าง
1.5 แบบแปลนหลังคา เนื่องจากหลังคาจะมีรายละเอียดน้อยกว่าพื้น แบบแปลนหลังคาจึงไม่มีระบุข้อมูลมากเหมือนแบบแปลนพื้น คงจะมีแต่ขนาดมิติ ความกว้างยาว ระยะยื่นชายคา ประเภทของวัสดุมุงหลังคา และลักษณะของหลังคา เท่านั้น
1.6 รูปด้าน รูปด้านนี้จะประกอบด้วย รูปด้านทุกด้านของอาคาร (ด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้าง) รูปด้านจะแสดงให้เห็นถึงภาพของอาคารที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ เมื่อมองจากด้านนอกอาคาร ผู้อ่านแบบจึงต้องสังเกตรายละเอียดต่างๆ ให้ดี รายละเอียดต่างๆ ที่ระบุอยู่ในแบบด้านข้างจะมีไม่มาก คงมีแต่เพียง ขนาดมิติต่างๆ ของอาคาร และรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อยอื่นๆ
1.7 รูปตัด รูปตัดจะมีรายละเอียดแสดงอยู่มาก เช่นเดียวกับแปลนพื้น จำนวนของรูปตัดจะขึ้นอยู่กับความสลับซับซ้อนของอาคาร ข้อมูลที่ไม่มีแสดงไว้ในแปลนพี้น แต่มีแสดงในรูปตัด ได้แก่ ระดับของพื้นชั้นต่างๆ เพดาน รวมถึงระดับของคานหลังคา และโครงสร้างส่วนอื่นๆ ของหลังคา รายละเอียดวัสดุโครงสร้าง หลังคา และวัสดุมุงหลังคา ตลอดจนเชิงชายและปั้นลม
1.8 รูปขยาย รูปขยายจะแสดงรายละเอียดต่างๆ ที่ไม่มีแสดงไว้ในแบบอื่น ส่วนใหญ่แล้วรูปขยายที่จะต้องมี ได้แก่ แบบขยายประตู-หน้าต่าง แบบขยายห้องน้ำ-ห้องส้วม นอกจากนี้อาจจะมีแบบขยายอื่นๆ ได้อีก เช่นแบบขยายบันได เป็นต้น
2. แบบวิศวกรรมโครงสร้าง แบบวิศวกรรมโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก จะเป็นแบบที่แสดงรายละเอียดโครงสร้างทั้งหมด ตลอดจนรายละเอียดการเสริมเหล็กเช่นเดียวกับแบบสถาปัตยกรรม แบบวิศวกรรมโครงสร้างจะประกอบด้วยแบบย่อยๆ อีกหลายแบบ ดังต่อไปนี้
2.1 แบบแปลน แบบแปลนของแบบวิศวกรรมโครงสร้างจะระบุ ขนาด มิติ ตำแหน่ง และชนิดขององค์อาคารแต่ละส่วน โดยการระบุองค์อาคารแต่ละตัวที่จะใช้ ตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่เพื่อบอกประเภทขององค์อาคาร (F = ฐานราก, C = เสาหรือตะม่อ, GB = คานคอดิน, B = คาน, RB = คานหลังคา, S = พื้น, ST = บันได) ตามด้วยหมายเลขประจำองค์อาคารนั้นๆ สำหรับแบบแปลนจะมีไล่จากล่างสุดถึงบนสุด นั่นคือ แบบแปลนฐานราก แบบแปลนพื้นชั้นบน แบบแปลนคานหลังคา แบบแปลนโครงหลังคา
2.2 แบบขยาย แบบขยายหลักๆ ที่จะต้องมี ได้แก่ แบบขยายฐานราก และแบบขยายการเสริมเหล็ก เสา คาน พื้น และบันได ซึ่งจะระบุรายละเอียดขนาด มิติ ขององค์อาคารแต่ละตัว ตลอดจนการเสริมเหล็ก
3. แบบวิศวกรรมไฟฟ้า แบบวิศวกรรมไฟฟ้า ประกอบด้วย สัญลักษณ์ รายการประกอบแบบ และแบบระบบไฟฟ้าของอาคาร โดยส่วนใหญ่จะแยกเป็นแต่ละชั้น ในที่นี้จะไม่ขอกล่าวถึงในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องระบบไฟฟ้า แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง จะเป็นลักษณะการเดินท่อร้อยสายไฟ ซึ่งอาจจะต้องมีการฝังท่อไว้ในโครงสร้าง
4. แบบวิศวกรรมเครื่องกล แบบวิศวกรรมเครื่องกลจะประกอบด้วยรายละเอียดในการติดตั้งเครื่องจักรในอาคาร เช่น ลิฟท์ บันไดเลื่อน เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ ระบบกลไกต่างๆ ที่ต้องใช้ภายในอาคาร
5. แบบวิศวกรรมสุขาภิบาล สำหรับแบบวิศวกรรมสุขาภิบาลจะหมายรวมถึง ระบบน้ำดี และน้ำเสีย ซึ่งประกอบด้วย แบบผังระบบน้ำดี และผังระบบน้ำเสีย ของแต่ละชั้น และอาจมีแบบขยาย บ่อเกรอะ บ่อซึม ในกรณีที่ไม่ได้ใช้บ่อบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป

3 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

ขอขอบคุณมากๆที่เปิดแสงสว่างให้กับผู้ด้อยโอกาสอย่างผมมากๆเลยครับ อ่านแล้วเข้าใจง่าย สุดยอดครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อยากรู้

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ครับ

แสดงความคิดเห็น