การตอกเสาเข็มและความคลาดเคลื่อนที่ยอมให้
การตอกเสาเข็มและความคลาดเคลื่อนที่ยอมให้
1. เพื่อให้ได้ระดับปลายเสาเข็มที่กำหนด เครื่องจักรและวิธีการตอก ต้องสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ก่อสร้างจริง การตอกเสาเข็มโดยกรรมวิธี Pre-Bored หรือ Auger Press หรือวิธีการใดเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ
2. ขนาดของลูกตุ้ม ระยะยก ความเร็วของการตอก ในกรณีใช้ Drop Hammer (ปั้นจั่น) หรือใช้เครื่องจักรกลชนิด Diesel Hammer ความเหมาะสมนี้จะต้องสอดคล้องกับขนาดเสาเข็มและสภาพชั้นดิน รายการคำนวณแสดงความสัมพันธ์ของการตอก กับขนาดเสาเข็มผู้รับจ้างต้องเสนอขอความเห็นชอบต่อวิศวกรผู้ออกแบบก่อนทำงานจริง
2.1 ขนาดลูกตุ้มเหล็กที่ใช้ตอกเสาเข็มควรมีน้ำหนักอยู่ในช่วง 0.7 ถึง 2.5 เท่าของน้ำหนักเสาเข็ม ตัวอย่างเช่น
• เลือกเสาเข็ม คสล.(สี่เหลี่ยม) 0.30×0.30 ยาว 21.00 ม.
• น้ำหนักเสาเข็ม = 0.3×0.3×21x(2400/1000) = 4.536 ตัน
• น้ำหนักตุ้มเหล็ก = 0.7×4.536 = 3.18 ตัน(ต่ำสุด)
• น้ำหนักตุ้มเหล็ก = 2.5×4.536 = 11.34 ตัน(สูงสุด)
• ดังนั้น ควรเลือกใช้ลูกตุ้มขนาด 6 ตัน
2.2 จำนวนครั้งในการตอก (Blow-Count) ในช่วง 3 ม.สุดท้ายในการตอกเสาเข็มจะแบ่งระยะเป็น 10 ช่วงๆละ 0.30 ม. นับจำนวนครั้งในการตอกแต่ละช่วงแล้วจดบันทึกความสูงในการยกลูกตุ้มจากหัวเสาเข็มประมาณ 0.5-1.2 ม. ผู้ควบคุมงานควรระวังให้ความสูงในการยกลูกตุ้มถูกต้อง และคนตอกไม่รั้งสายเคเบิลเพื่อให้จำนวนครั้งมาก การสังเกตให้ดูสายเคเบิลควรจะหย่อนขณะลูกตุ้มกระแทกหัวเสาเข็ม ถ้าสายเคเบิลตึงแสดงว่ามีการรั้งสายเคเบิล (N=จำนวนครั้งฯ/ฟุตสุดท้าย)
3. เสาเข็มที่มีความบกพร่องในการผลิต หน้าตัดเสาเข็มไม่ได้ระนาบในตำแหน่งต่อเชื่อม ห้ามนำมาใช้
4. ก่อนดำเนินการตอกเสาเข็ม จะต้องตรวจสอบตำแหน่งเสาเข็มให้ถูกต้องตามที่แบบระบุ
5. เมื่อตั้งแนวเสาเข็มก่อนเริ่มดำเนินการตอก จะต้องได้แนวตามระนาบที่แสดงในแบบ
6. การตอกเสาเข็มบริเวณชิดเขตอาคาร หรือใกล้กับอาคารสาธารณะ ท่อ ประปา ท่อระบายน้ำ สายหรือเสาไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ควบคุมอื่นๆที่สำคัญ จะต้องทำการป้องกันแรงสั่นสะเทือน การเคลื่อนตัวของดิน ฝุ่นละออง เสียงและควันด้วยกรรมวิธีที่เหมาะสม หรือกรรมวิธีใดๆที่ทำให้เกิดความปลอดภัยด้วยค่าใช้จ่ายของผู้รับจ้างเอง สำหรับเสียงรบกวนต้องไม่ดังกว่ากำหนดโดยหน่วยงานราชการในพื้นที่นั้น หรือไม่ดังเกินกว่า 80 เดซิเบล
ความคลาดเคลื่อนที่ยอมให้ (Allowable Deviation)
1. ก่อนตอกเสาเข็มค่าการโก่งตัวของเสาเข็มจากแนวแกนที่ไม่รวมการโก่งตัวจากน้ำหนักเสาเข็มเมื่อวัดเทียบจากปลายทั้งสองข้าง จะต้องมีค่าไม่เกิน 1 : 1000 และเมื่อวัดตรวจสอบด้วยระนาบเส้นตรงทุกระยะ 3 เมตรจะต้องไม่เกิน 1 : 500
2. เสาเข็มที่ตอกเสร็จแล้วจะต้องเอียงตัวไม่เกิน 1 : 50 จากแนวดิ่ง โดยให้คำนวณจากผลรวมแบบเวกเตอร์ของการเอียงตัวที่วัดจากสองแกนที่ตั้งฉากกัน
3. ให้เสาเข็มตอกผิดจากตำแหน่งที่กำหนดไว้ต้องไม่เกิน 5 เซนติเมตร โดยวัดขนานกับแกนโคออร์ดิเนททั้งสองแกน ณ ระดับหัวเสาเข็มใช้งาน หากเกินนี้จะต้องทำการทบทวนแบบ
ป้ายกำกับ:
ขนาดของลูกตุ้ม,
ความคลาดเคลื่อน,
ตอกเสาเข็ม,
ระยะยก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น