โครงสร้างหลังคา (Roof Structure)


โครงสร้างหลังคา (Roof Structure) เป็นส่วนประกอบที่คลุมอาคารเพื่อให้เกิดพื้นที่ใช้สอย ป้องกันความร้อน ฝน จำแนกตามความลาดชันได้ 3 ประเภทคือ หลังคาเรียบ (Flat roof) หลังคาที่ลาดชัน (Sloped plane-roof) และระบบหลังคาที่ซับซ้อน (Complex roof system) หลังคาเรียบมักเป็นหลังคาคอนกรีต เช่นแผ่นพื้นค.ส.ล ทั้งที่เป็นพื้นชนิดวางบนคาน (แผ่นพื้นทางเดียว แผ่นพื้นสองทาง แผ่นพื้นตง แผ่นพื้นกระทง หรือแผ่นพื้นไร้คานแบบต่าง ๆ) จะต้องทึบน้ำ โดยผสมสารกันซึม หรือทำระบบกันซึมคลุมผิวด้านบน อีกแบบหนึ่งเป็นหลังคาที่ใช้เหล็กแผ่นพับเป็นไม้แบบสำหรับเทคอนกรีต ความหนาของคอนกรีตและเหล็กเสริมในพื้นคอนกรีตจะน้อยกว่าหลังคาเรียบคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังจากคอนกรีตแข็งตัวแล้ว แผ่นเหล็กพับจะเป็นทั้งเหล็กเสริมของพื้นหลังคา และเป็นฝ้าเพดานของชั้นที่อยู่ถัดลงมา ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น


หลังคาลาดชัน นิยมใช้กับอาคารทั่วไปรวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรม หลังคาชนิดนี้ประกอบไปด้วยองค์ประกอบที่สำคัญสองส่วนคือ วัสดุมุงหลังคา และโครงหลังคา ประกอบกันเป็นรูปทรงต่าง ๆ อาทิ เพิงแหงน (Lean to) ปีกผีเสื้อ (Butterfly) จั่ว (Gable) หรือปั้นหยา (Hip) วัสดุมุงปัจจุบันใช้กระเบื้องชนิดต่าง ๆ หรือแผ่นเหล็กพับขึ้นรูปสำเร็จ (Metal sheet) วัสดุเหล่านี้มีคุณสมบัติ น้ำหนักต่างกัน ราคา วิธีติดตั้ง ต่างกัน โครงหลังคา ประกอบด้วย จันทัน และแป (Rafter and purlin) อนึ่ง หากจั่วหลังคาเป็นทรงสูง ช่วงยาว หรือหลังคามีสันยาว ก็จะมีดั้ง (King post or post) รองรับจันทัน และมีอกไก่ (Ridge) เชื่อมยึด หรือพาดบนดั้งเพื่อพรางจันทัน (หรือให้จันทันพรางวางพาด) หากหลังคาช่วงยาวขึ้น หรือมีหลายระดับ เช่น หลังคาอุโบสถทรงไทย ก็อาจต้องมีดั้งโท (Queen post) หากโครงหลังคาเปลี่ยนระนาบ หรือมีหลายมุข เช่น หลังคาทรงปั้นหยา ก็จะต้องมี ตะเฆ่ราง (Valley rafter) หรือตะเฆ่สัน (Hip rafter) ณ ตำแหน่งที่เปลี่ยนระนาบ อย่างไรก็ตาม อาจสรุปได้ว่า วัสดุมุงหลังคายึดกับแป ถ่ายน้ำหนักผ่านแป สู่ตะเฆ่ หรือจันทัน แล้วถ่ายลงดั้ง คาน เสา หรือกำแพง ตามลำดับ แล้วแต่กรณี จันทัน ตะเฆ่ ดั้ง หรืออกไก่ อาจทำด้วยไม้ เหล็ก และคอนกรีต ส่วนแป จะมีแปเหล็ก และแปไม้เท่านั้น อนึ่ง อาจใช้โครงถัก (หรือโครงข้อหมุน – Truss) แทนระบบจันทัน ตะเฆ่ โดยเฉพาะในอาคาร หรือโรงงานที่ต้องการพื้นที่ว่างมาก ๆ และตำแหน่งเสาอยู่ห่างกันมากจนไม่สามารถใช้ระบบแรกได้ โครงถักเดิมใช้ทั้งที่ทำจากไม้ และเหล็ก ปัจจุบันนิยมให้เหล็กเป็นส่วนใหญ่ โครงถักนี้อาจมีรูปทรงแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับรูปทรงของหลังคา ความสวยงามทางสถาปัตยกรรม และประสิทธิภาพในการรับน้ำหนัก

ส่วนระบบหลังคาที่ซับซ้อน อาทิ หลังคาคลุมอัฒจันทร์สนามกีฬา อาคารสาธารณะขนาดใหญ่ ที่ต้องคลุมพื้นที่ใช้สอยมาก ๆ เน้นความสวยงาม หรือเอกลักษณ์ ต้องคำนวณออกแบบ และก่อสร้างอย่างพิถีพิถัน ใช้ความชำนาญเป็นพิเศษ และราคาแพง จึงไม่เหมาะกับอาคารขนาดเล็ก หรือที่พักอาศัย ตัวอย่างรูปแบบหลังคาที่มีความซับซ้อน ได้แก่หลังคารูปทรงเรขาคณิต เช่น หลังคาแผ่น หรือเปลือกบาง (Plate or shell) รูปทรงเรขาคณิต เช่น ฝาจีบ (Folded) ครึ่งทรงกลม (Halfspherical) ทรงกระบอกผ่าซีก (Barrel) Hyperbolic-Paraboloid โครงร่ม (Umbrella like) หลังคาระบบตง พื้นกระทง หรือโครงตาข่าย (Grid or plate roof) ระบบขึง หรือดึงรั้ง (Cable roof) ระบบ Arch อนึ่ง โครงหลังคาเหล่านี้อาจใช้วัสดุมุงปกติ เช่น กระเบื้อง แผ่นเหล็ก วัสดุเบา โปร่งใส อาจเป็นเปลือกบางทำด้วยคอนกรีต แผ่นโลหะขึ้นรูป หรือแผ่นวัสดุบาง (Membrane) เช่น ผ้าใบ เป็นต้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น