นั่งร้านและอันตรายที่มักเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานในการใช้นั่งร้าน



ลักษณะของงานก่อสร้างส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานบนที่สูง และงานใต้ดินที่มีระดับชั้นความลึกต่าง ๆ ซึ่งงานเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องใช้นั่งร้านในการก่อสร้างงานเพื่อให้แล้วเสร็จ ผู้ใช้แรงงาน ช่าง หัวหน้างาน ตลอดจนวิศวกรที่ทำงานด้านการก่อสร้าง จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำงานที่สูงโดยไม่ใช้นั่งร้าน ด้วยเหตุนี้เราจึงควรมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับงานนั่งร้านให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัย อันตรายจากงานนั่งร้าน มักจะพบเสมอในหน่วยงานก่อสร้าง เพราะมีการใช้งานตลอดเวลา ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด กล่าวคือ เมื่อเริ่มทำชั้นที่สองขึ้นไปต้องทำนั่งร้าน และค้ำยันจนกระทั่งโครงสร้างทั้งหมดเสร็จ จึงเริ่มการตกแต่งภายในและภายนอก การตกแต่งภายนอกต้องตั้งนั่งร้านจากชั้นล่างสุดจนกระทั่งถึงชั้นบนสุด ถ้าโครงสร้างสูงมากอาจใช้นั่งร้านชนิดแขวนเข้าช่วย เพื่อให้การตั้งนั่งร้านจากข้างล่างไม่ต้องต่อชั้นไปสูงมากนัก
ข้อควรรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการออกแบบนั่งร้าน
ในส่วนของนั่งร้านทั่วๆ ไปนั้น จำเป็นต้องมีแบบที่มาตรฐาน ซึ่งคำนึงถึงความปลอดภัยที่จะใช้งานเป็นหลัก นั่งร้านเหล่านั้นควรมีลักษณะ ดังนี้
• สำหรับนั่งร้านที่ทำด้วยไม้ การออกแบบเพื่อรับน้ำหนัก ควรออกแบบไว้สูงสุด 4 เท่าของน้ำหนักที่จะใช้งานจริง
• การใช้นั่งร้านนั้นไม่ว่าจะใช้งานเมื่อใดก็ตาม ให้ใช้อุปกรณ์ชิ้นส่วนชนิดเดียวกัน อย่าใช้ผสมผสานกัน
• ฐานของนั่งร้านจะต้องมั่นคง และวางอยู่ในลักษณะสมดุลย์ อย่าใช้พวกเศษวัสดุต่าง ๆ เช่น เศษอิฐ เศษไม้ รองขานั่งร้าน
• นั่งร้านควรมีการโยงยึด ผูกติด หรือค้ำยันกับตัวอาคาร เพื่อป้องกันการเอน หรือล้ม
• นั่งร้านที่สูงกว่า 2.00 เมตร จะต้องมีราวกันตก
• นั่งร้านที่สร้างด้วยไม้จะต้องใช้ไม้ที่ไม่ผุเปื่อย ไม่มีรอยร้าว หรือชำรุดอื่นๆ ที่จะทำให้ขาดความแข็งแรงทนทาน
• การทำนั่งร้านแบบเสาเรียงเดี่ยว กรณีที่ใช้ไม้ไผ่เป็นเสาควรตั้งให้ห่างกันไม่เกิน 1.50 เมตร ให้ใช้ไม้ไผ่ทำคานผูกติดกับเสาทุกต้น เมื่อตั้งเสาแล้วใช้ไม้ไผ่ทะแยงมุม ไม่เกิน 45 องศา กับแนวราบ
• ที่กล่าวมานี้เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของแบบนั่งร้าน ซึ่งควรปฏิบัติกันในงานก่อสร้าง ซึ่งรายละเอียดอาจศึกษาได้จาก ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ความปลอดภัยในการทำงานก่อสร้าง(นั่งร้าน)

อันตรายที่มักเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติงานในการใช้นั่งร้าน ได้แก่
1. การพังของนั่งร้าน เป็นสาเหตุที่ทำให้คนงานได้รับอันตรายอย่างมาก การพังของนั่งร้านมีสาเหตุมากมาย เช่น
1.1 รับน้ำหนักการบรรทุกมากเกินไป เป็นเพราะคนงานขึ้นไปมากเกินไป หรือกองวัสดุไว้มากเกินความจำเป็น
1.2 วัสดุนำมาใช้ไม่สมบูรณ์ เช่น ใช้ไม้เก่าจนเนื้อไม้ยุ่ย หรือเป็นเหล็กที่คดงอเป็นสนิม
1.3 การประกอบหรือติดตั้งไม่ถูกต้อง ถ้าเป็นนั่งร้านไม้มีการยึคด้วยตะปูน้อย หรือไม่ถูกวิธี หรือนั่งร้านเหล็กใช้ส่วนประกอบไม่ครบ
1.4 ฐานของนั่งร้านไม่แข็งแรงมั่นคง วางบนดินอ่อน บนเศษไม้ผุ หรือวัสดุที่ไม่แข็งแรง พอที่จะรับน้ำหนักได้
1.5 จากการทำงานไม่ถูกวิธี เช่น การเทพื้นคอนกรีตโดยใช้ปั้มคอนกรีตจะไม่ไหลตามท่อและจะสุมเป็นกอง ถ้าคนงานไม่ขยับปลายท่อเพื่อเปลี่ยนที่กองของคอนกรีตใหม่ หรือเกิดจากคนงานโกยคอนกรีตไม่ทันก็จะมีคอนกรีตกองใหญ่ ซึ่งคอนกรีตนี้จะมีน้ำหนักมาก (1 ลูกบาศก์เมตรหนักประมาณ 2,400 กิโลกรัม) ถ้าคิดรวมกับน้ำหนักของคนงานที่ขึ้นไปปฏิบัติงานแล้ว จะทำให้ค้ำยันบริเวณนั้นรับน้ำหนักเกินกว่าที่ออกแบบไว้เป็นสาเหตุให้ค้ำยันพังทลาย
2. คนงานตกลงมาจากนั่งร้าน ไม่ใช่มีสาเหตุจากนั่งร้านพังเท่านั้น ที่ทำให้คนงานตกลงมาแต่ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีก ที่ทำให้คนงานตกลงมาจากนั่งร้าน เช่น
2.1 คนงานประมาทเลินเล่อ เดินสะดุดวัสดุบนนั่งร้านแล้วพลัดตกลงมา
2.2 คนงานทำงานเพลิน ทำให้ก้าวผิดเพราะไม่ทันสังเกตมองพื้นทางเดินบนนั่งร้าน เช่น ถอยหลังเพื่อให้ทำงานชนิดโดยไม่ได้ดูว่าตอนนี้ยืนอยู่ริมนั่งร้านแล้ว
2.3 อาจจะเป็นโรคปัจจุบันทันด่วน เช่น เป็นลม หน้ามืด ก็อาจจะทำให้ตกลงมาได้
2.4 เกิดจากการพัดของลมอย่างแรง เช่น ขณะทำงานเกิดมีฝนตกกระทันหันและลมพัดแรง พัดเอาคนงานตกลงมา กรณีเช่นนี้มีคนงานก่ออิฐโดนลมพัดทั้งคนทั้งกำแพงอิฐที่ยังก่อไม่เสร็จตกลงมาเสียชีวิต
3. การพังทลายของนั่งร้านตกลงมาโดนอาคารที่อยู่รอบข้าง หรือบ้านพักคนงานที่สร้างอยู่ติดอาคารที่กำลังก่อสร้าง เหตุการณ์เช่นนี้พบในเขตชุมชนที่ต้องสร้างอาคารสูงในพื้นที่ที่จำกัด โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้
4. คนงานได้รับอันตรายจากการเดินผ่านนั่งร้าน ในการทำงานของคนงานต้องเดินผ่านนั่งร้านที่ตั้งอยู่รอบอาคาร เพื่อเข้าไปทำงานแล้วต้องเดินผ่านค้ำยันของชั้นที่เทคอนกรีตเสร็จใหม่ๆ หรือขึ้นไปตั้งนั่งร้านชั้นต่อไป ถ้าหากการตั้งนั่งร้านไม่เป็นระเบียบ ระเกะระกะ มีปลายของชิ้นส่วนนั่งร้านโผล่ยื่นออกมาคนงานอาจจะโดนทิ่มหรือเดินชนส่วนอันตรายเหล่านั้นทำให้ได้รับบาดเจ็บได้
หลักในการเลือกอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลกับลักษณะงาน
“อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล” หรือ “Personal Protective Equipment” หมายถึง สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่นำมาสวมใส่ลงบนอวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายหรือหลายส่วนรวมกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันอวัยวะส่วนนั้นของร่างกาย ไม่ให้ประสบอันตรายจากสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันอันตรายอันเกิดจากสภาพสิ่งแวดล้อมในการทำงานให้แก่คนงาน
1. เลือกให้เหมาะสมกับลักษณะงานที่เป็นอันตราย ต้องทราบลักษณะงานที่ทำจะเกิดอันตรายอะไรได้บ้าง เช่น ถ้าเราต้องทำงานเกี่ยวกับกรด เราก็ควรเลือกใช้หน้ากากที่สามารถป้องกันไอกรดนั้นได้ เลือกใช้ถุงมือป้องกันกรด เป็นต้น
2. เป็นอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่ผ่านการทดสอบหรือรับรองประสิทธิภาพ จากสถาบันหรือองค์การที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัย เช่น อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจที่มีหนังสือรับรองประสิทธิภาพจากสถาบันอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแห่งสหรัฐอเมริกา (National Institute for Occupational Safety and Health : NIOSH) เป็นต้น
3. ขนาดพอเหมาะกับผู้ใช้ เนื่องจากอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากต่างประเทศ และมีขนาดที่แตกต่างกันไปมาก บางชนิดจะมีขนาดใหญ่โตเกินไปไม่เหมาะสมกับขนาดร่างกายของคนไทย
4. ประสิทธิภาพสูง ต้องพิจารณาประสิทธิภาพของอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถป้องกันอันตรายนั้นได้เป็นอย่างดี
5. มีน้ำหนักเบา และสวมใส่สบาย เนื่องจากอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลต้องใช้สวมใส่เข้าไปยังอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนของร่างกาย ถ้ามีน้ำหนักเบาและสวมใส่สบาย ก็จะทำให้ผู้ใช้งานไม่เกิดความรำคาญ มีความเต็มใจที่จะสวมใส่อยู่ได้เป็นเวลานาน และมีความรู้สึกไม่ขัดขวางต่อการทำงาน
6. ใช้ง่ายไม่ยุ่งยาก อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่ออกแบบมาใช้ได้ง่าย ไม่ยุ่งยากจะทำให้ไม่ต้องใช้เวลาในการฝึกอบรม หรือฝึกปฏิบัติให้กับผู้ใช้งาน ซึ่งสามารถเรียนรู้วิธีการใช้ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้เกิดความพึงพอใจในการใช้อุปกรณ์ป้องกันนั้น
7. บำรุงรักษาง่าย เพื่อให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานและคงประสิทธิภาพในการป้องกันเอาไว้ การบำรุงรักษาควรกระทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก เพื่อให้ผู้ใช้งานหรือผู้ที่รับผิดชอบในการบำรุงรักษาให้ความสนใจในการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ
8. ทนทาน หาอะไหล่ได้ง่าย ทำด้วยวัสดุที่ทนทานมีอายุการใช้งานที่ยาวนานและเมื่อมีชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ประกอบชำรุดหรือหมดอายุ สามารถหาอะไหล่มาเปลี่ยน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น